สมดุลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ทำความรู้จักสมดุลสมุนไพรฤทธิ์ร้อน – เย็น

สมดุลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ทำความรู้จักสมดุลสมุนไพรฤทธิ์ร้อน – เย็น
คำว่า “ฤทธิ์ร้อน – ฤทธิ์เย็น” เป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นชินกันมาตั้งแต่อดีต ด้วยวัตถุดิบต่าง ๆ ที่นำมาใช้ปรุงอาหาร โดยเฉพาะสมุนไพรไทย ต่างก็มีฤทธิ์ที่เข้าไปทำปฏิกิริยาภายในร่างกายอย่างเหมาะสม อย่างคนสมัยก่อนมักบอกกันว่า หากรู้สึกร้อนเกินไปก็ให้ทานเย็น รู้สึกเย็นก็ให้ทานร้อน
ดังนั้นหากเลือกทานสมุนไพรชนิดใดก็ตามควรเลือกให้เกิดความสมดุลกับร่างกายในช่วงเวลานั้น การพยายามสร้างสมดุลให้กับฤทธิ์ร้อน – ฤทธิ์เย็นด้วยสมุนไพร จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้สุขภาพดี แข็งแรงได้จริง
ยาวไปอยากเลือกอ่าน
สร้างสมดุลฤทธิ์ร้อน – ฤทธิ์เย็น เพื่อผลดีต่อร่างกาย
การมีฤทธิ์ร้อนมากเกินไป
เมื่อร่างกายได้รับฤทธิ์จากความร้อนมากเกินไป มักก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น เช่น รู้สึกเหนื่อยง่ายเมื่อใช้กำลัง อ่อนเพลีย ง่วงนอนแม้พักผ่อนเต็มที่ กระหายน้ำบ่อย สะอึก มีอาการตัวร้อนจากภายใน เหงื่อออกง่ายกว่าปกติ บางครั้งมีอาการมึนศีรษะ ปวดหัวแบบหาสาเหตุไม่ได้ จนถึงขั้นส่งผลในระยะยาวแบบคาดไม่ถึง อาทิ เกิดสิว ฝ้า ได้ง่ายกว่าคนปกติ มีภาวะเครียด ควบคุมสติและอารมณ์ไม่ค่อยอยู่ มักเกิดผื่นคันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเป็นประจำ หรืออาจผมร่วงหรือหงอกก่อนวัยอันควร เป็นต้น

การมีฤทธิ์เย็นมากเกินไป
ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายของเราได้รับฤทธิ์เย็นมากเกินไป ก็ส่งผลต่อสุขภาพได้เช่นกัน อาทิ มีอาการป่วย เป็นไข้หวัดบ่อย มีน้ำมูก มีเสมหะง่าย รู้สึกแฉะบริเวณดวงตา มีขี้ตาเยอะ จุกเสียดผสมกับอาการท้องอืด ทานอะไรไม่ค่อยลง เกิดตะคริว มือเท้าเย็น นิ้วล็อก ไปจนถึงการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น รูมาตอยด์ ภูมิแพ้ หอบหืดกำเริบ สมองไม่แล่น คิดอะไรไม่ค่อยออก บางรายมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย หรือถ้าหนักเลย อาจถึงขั้นไตวายก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่มักพบเห็นได้บ่อยคือ ภายในร่างกายของคนเรามีฤทธิ์ร้อนมากเกินไป โดยมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 80% ซึ่งอาจเกิดจากอาหารที่เราเลือกรับประทานเข้าไป รวมถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน ทุกอย่างที่กล่าวมานี้ล้วนมีส่วนให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายขึ้นได้ ขณะที่อีก 15% จะมีปัญหาสลับกันทั้งร้อนและเย็น และ 5% มีปัญหาฤทธิ์เย็นมากเกินไป

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม การพยายามปรับสมดุลภายในร่างกายให้เหมาะสมด้วยสมุนไพร จะช่วยเพิ่มความแข็งแรง สร้างสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ อันส่งผลไปถึงสภาพจิตใจที่มีความสุข ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคร้าย พร้อมดำเนินชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการได้อย่างอิสระ พอร่างกายแข็งแรง จิตใจก็ดีตามไปด้วยนั่นเอง